
แหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดป่าในธรรมชาติ (Wild Betta Habitat)
ปลากัดป่า ในธรรมชาตินั้นสามารถพบเจอได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป เช่น หนอง คลอง บึง หรือแหล่งน้ำขัง ซึ่งมักจะเป็นแหล่งน้ำนิ่ง ที่เต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ซึ่งแหล่งที่มีพืชน้ำขึ้นอยู่เยอะตามธรรมชาตินั้นจะเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นยอดสำหรับปลากัด ปลากัดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 15 ไปจนถึง 40 องศาเซลเซียส อาศัยได้ในน้ำที่มีค่า PH ทั้งเป็นกรดและด่าง ในแหล่งน้ำธรรมชาติบางแห่งที่ตื้นเขิน รบทึบ และน้ำที่มีสีน้ำตาลเกิดจากการทับถมกันจนเกิดสารแทนนินธรรมชาติ เราอาจพบปลากัดอาศัยอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของไทยได้มีการบันทึกไว้ว่า “มีการริเริ่มนำปลากัดจากธรรมชาติมาเลี้ยงตั้งแต่สมัย กรุงธนบุรี”

การกัดกันของปลากัดป่าในธรรมชาติ (Fighting in Wild Betta)
โดยทั่วไป ปลากัดป่า เป็นปลาประเภทสัตว์กินเนื้อ และสามารถถูกฝึกให้กินอาหารเม็ดได้เหมือนกับปลาเลี้ยงชนิดอื่นๆ แต่ปลากัดในธรรมชาตินั้นมีชีวิตอยู่ได้จากการกินตัวอ่อนของแมลง ลูกไร สัตว์น้ำตัวเล็กๆ หรือลูกปลาที่มีขนาดเล็กกว่า นั่นหมายความว่าปลากัดจะมีความคึกคะนอง และเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าหากได้รับอาหารสดที่มีชีวิต และมีโปรตีนสูง

อาหารของปลากัดป่าในธรรมชาติ (Food for Wild Betta)
การกัด หรือ ต่อสู้กันของปลาในธรรมชาตินั้นมักจะไม่จริงจัง กินระยะเวลาไม่นานมาก บางครั้งอาจแค่ขู่กันโดยการแผ่ครีบและหางเผื่อไล่ศัตรูออกไป ไม่ต่อสู้กันจนถึงตายเหมือนกับ การกัดปลาหม้อ ปลากัดแฟนซี หรือการพนันปลากัด ปลาตัวผู้ที่พ่ายแพ้มักจะว่ายหนีไป ปลาที่ได้รับชัยชนะจะเลือกที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์ที่สุด และเริ่มก่อหวอดเพื่อสร้างรังเพื่อเตรียมความพร้อมในการผสมพันธุ์กับปลาตัวเมีย
ประเภทของปลากัดป่า ที่พบได้ในไทย (Types of Wild Betta : found in Thailand)

ปลากัดป่าแก้มแดง ภาคกลางและเหนือ (Splendens)
ปลากัดภาคกลาง อาจพบได้ตั้งแต่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ตลอดจนภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ลักษณะพิเศษของปลากัดชนิดนี้ คือ มีรูปร่างที่เรียวยาว ตาโต ลำตัวจะมีสีน้ำตาลอมแดง ชายน้ำสีแดงสลับฟ้า กระโดงและหางจะมีสีแดงและดำปะปน แก้มทั้งสองข้างจะเป็นสีแดงสด จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “ปลากัดป่าแก้มแดง” และยังถือได้ว่าปลากัดชนิดนี้เป็นต้นกำเนิดของปลากัดแฟนซี และปลากัดหม้อในปัจจุบัน

ปลากัดป่าหน้าดำ ภาคตะวันออก (Siamorientalis)
มีแหล่งที่อยู่ในทุกจังหวัดของภาคตะวันออก ไปจนถึงบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชา และทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ลักษณะพิเศษของปลากัดชนิดนี้ คือ มีลำตัวสีดำเข้ม และส่วนหัวคล้ายกับลูกกระสุนปืน หางเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวขอบสีแดง ปลายสุดของชายน้ำและตะเกียบมีสีแดงสด ใบหน้าสีดำไม่เคลือบเขียวแก้มมีขีดสีแดง จึงมักถูกเรียกว่า “ปลากัดป่าหน้าดำ”

ปลากัดป่ามหาชัย (Mahachaiensis)
ปลากัดมหาชัย จะพบได้ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม กระจายไปจนถึงบางจังหวัดในเขตปริมณฑล บางครั้งอาจพบในพื้นที่ที่มีน้ำทะเลหนุนถึง ลักษณะพิเศษของปลากัดชนิดนี้ คือ เกล็ดสีเขียวอ่อนที่เรียงตัวสวยงามเหมือนเมล็ดข้าวโพด แก้มสีเขียวสองขีด หางใบโพธิ์ลายตรงคล้ายกับ ปลากัดป่าอีสาน แต่ไม่มีจุด เป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุมากที่สุด

ปลากัดป่าหน้างู ภาคอีสาน (Smaragdina)
อาศัยอยู่เกือบทั่วทุกจังหวัดในภาคอีสาน ลักษณะพิเศษของปลากัดชนิดนี้ คือ มีเกล็ดเป็นสีเขียว หางเป็นทรงรูปใบโพธิ์มีจุดสีดำเรียงต่อกันคล้ายกับใยแมงมุม นิสัยดุร้ายกว่าชนิดอื่นๆ มีเกล็ดที่เรียงตัวกันบนในหน้าอย่างเห็นได้ชัด คล้ายกับหน้าของงู จึงถูกตั้งชื่อว่า “ปลากัดป่าหน้างู” ปลากัดชนิดนี้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ ปลากัดอีสานหน้างู และ ปลากัดอีสานหางกีตาร์

ปลากัดป่าแก้มเขียว ภาคใต้ (Imbellis)
ปลากัดลูกทุ่งใต้ สามารถพบได้ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปจนสุดชายแดนของประเทศไทย ปลากัดป่าภาคใต้เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด มีลักษณะคล้ายคลึงกับป่ากัดป่าหน้าดำตะวันออก แต่บริเวณส่วนใบหน้าจะมีสีเขียวเคลือบ บางตัวจะเคลือบส่วนหัวทั้งหมด เรียกว่า แก้มเขียว หรือ แก้มแท่น ชายน้ำมีจุดแดงคล้ายกับหยดน้ำกลับหัว หางทรงกลมรูปพระจันทร์เสี้ยว บางตัวอาจเป็น ปลากัดหางใบโพธิ์ (แต่จะค่อนข้างหายาก)